สสจ.สงขลา พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรก เสี่ยงสูง 1 ราย สัมผัสใกล้ชิด 48 คน
19 ส.ค. 2566, 13:06
วันที่ 19 สิงหาคม 2566 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา พบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรรายแรก เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 31 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดสงขลา ประวัติเริ่มป่วย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน และวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัส Monkeypox โดยมาตรการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และหน่วยงานในสังกัด ฯ ในพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
1.แยกผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรค ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 – จนถึงปัจจุบัน
2.ค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วย พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย เสี่ยงต่ำ 1 ราย ผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่มีความเสี่ยง 48 ราย และให้คำแนะนำการสังเกตอาการตนเองและการปฏิบัติตัวแก่ผู้สัมผัส
3.จัดการสิ่งแวดล้อมโดยการทำลายเชื้อในบริเวณที่ปนเปื้อน
4.ให้คำแนะนำด้านการดูแลร่างกาย จิตใจ ทั้งผู้ป่วยและญาติที่ใกล้ชิด
มาตรการที่กำลังดำเนินการ ได้แก่
1.ติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ ตามแนวทางกรมควบคุมโรค เป็นเวลา 21 วันและเก็บตัวอย่างเพิ่มกรณีผู้สัมผัสที่มีอาการ และกลุ่มเสี่ยงสูง เมื่อครบ 21 วัน
2.สื่อสาร สร้างความเข้าใจ และตระหนักสิทธิผู้ป่วยและญาติ
3.ทำความสะอาดตามแนวทางกรมควบคุมโรค ที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
4.ประสานแจ้งข้อมูลแก่พื้นที่ที่ผู้ป่วยทำงาน
5.เยียวยาจิตใจ (MCATT) ดูแลจิตใจผู้ป่วยและญาติ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รวมจำนวน 189 ราย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43) และพบว่าปัจจัยเสี่ยงคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร
สำหรับผู้ที่มีประวัติพฤติกรรมเสี่ยงนั้น การตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้โดย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัส แนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น