เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"เสรี" มองแนวโน้ม สว.โหวตให้ "เศรษฐา" แต่ยังคาใจปมคุณสมบัติ ที่ "ชูวิทย์" แฉ


22 ส.ค. 2566, 15:01



"เสรี" มองแนวโน้ม สว.โหวตให้ "เศรษฐา" แต่ยังคาใจปมคุณสมบัติ ที่ "ชูวิทย์" แฉ




วันนี้ ( 22 ส.ค.66 ) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เข้ารับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า การพิจารณาคุณเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ตอนแรกฟังเสียงเหมือนจะไม่ผ่าน แต่ในสภาฯย่อมฟังเสียงกันออกว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ก็เชื่อได้ว่าในส่วนของวุฒิสภามีแนวโน้มสูงที่จะผ่าน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ทราบว่าจะคะแนนจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากผมจะตัดสินใจให้ผ่านมันง่าย แค่ตามน้ำไป แต่การพิจารณาบุคคลเป็นนายกฯ เป็นความรับผิดชอบของ สส. และสว. ตนก็ต้องให้เหตุผลในการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ตนอยากฟังเสียงนายเศรษฐาในที่ประชุมแห่งนี้ แต่ท่านก็ไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งการพิจารณานั้นมีหลายเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องคุณสมบัติต้องห้ามอย่างเดียว เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสมควรจะเป็นไหม สมควรจะเห็นชอบหรือไม่ ควรหรือไม่ควร ซึ่งมีหลายเรื่อง

สว.เสรี กล่าวต่อว่า จริงๆก็อยากจะถามว่าการแจกเงินดิจิทัลเอาเงินมาจากไหน แจกคนละ 1 หมื่นบาท คนร่ำรวย มหาเศรษฐีก็ได้กัน ทำไปไม่แจกตรง ทำไมต้องผ่านกระบวนการซึ่งเข้าใจว่าเป็นบริษัทที่ถือครองเงินดิจิทัลหรือไม่ หรือต้องตั้งบริษัทมาบริหารจัดการหรือไม่ มันมีคำถามเยอะ อย่างไรก็ตามการแจกเงินให้ประชาชนตนก็ไม่ขัดข้อง แต่ห่วงว่าเงินที่แจก 5 แสนกว่าล้านเอามาจากที่ไหน และจะกระทบการเงินการคลังหรือไม่ และส่วนราชการบริหารส่วนอื่นจะเอาเงินจากที่ไหน จะเป็นปัญหากับประเทศหรือไม่ อันนี้ก็อยากฟังจากปากนายเศรษฐา ส่วนต่อว่าก็อยากฟังจากคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าจะแก้ปัญหาน้ำมันอย่างไร ประชาชนจะมีกินมีใช้อย่างไร ควรหรือไม่ควร มีความรู้ความสามารถในการเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร เป็นคำถามที่อยากถาม

สว.เสรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทางพรรคร่วมไปแถลงไว้ตนมีคำถามสำคัญว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่จะกระทบต่อหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์เราจะไม่เห็นด้วย ซึ่งท่านได้แถลงไว้ในส่วนสุดท้ายว่า และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นหมายความว่าท่านจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็คงส่วนในหมวด ฉะนั้นคำว่า "คงส่วนในหมวด" ท่านจะเอาหมวดไว้ และจะแก้สาระหรือไม่ ก็ขอให้พูดให้ชัดว่าถ้าจะคงหมวดไว้ก็ต้องไม่แก้สาระเนื้อหาที่บัญญัติไว้อยู่เดิม ก็คือต้องยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ต้องพูดให้ชัด ถ้าพูดแบบนี้เขียนแบบนี้มันหลอกชาวบ้านได้ มันแฝงไว้

ทั้งนี้ สว.เสรี ยังได้ยกกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้นำเสนอ 3 เรื่องในเรื่องนายเศรษฐา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายที่ดิน และมีการกล่าวหาว่ามีการใช้นอมินีหรือไม่นั้น โดยระบุว่า "อยากให้นายเศรษฐาในฐานะคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ตอบให้ชัดเจน การจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี หากมีเรื่องเหล่านี้มันเป็นทุกขลาภ ถ้าหากว่าท่านมีพฤติกรรมหรือการกระทำเหล่านี้มาก่อน มันกลายเป็นเรื่องที่ท่านจะต้องถูกกล่าวว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือ อาจจะถูกกล่าวหาว่าผิดจริยธรรม แต่อย่างไรก็ตามที่บอกว่าเป็นทุกขลาภเพราะหากท่านผ่านไป ในรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ท่านจะถูกตรวจสอบในคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 160 ตามรัฐธรรมนูญอีกไม่จบไม่สิ้น และอาจจะสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีก"

"สุดท้ายในกรณีที่จะเป็นบุคคลมาบริหารประเทศ ถ้าหากมีเรื่องเหล่านี้ ตนเป็นห่วงบ้านเมือง เป็นห่วงว่าท่านจะประสบเคราะห์กรรมอีกในอนาคตข้างหน้า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง ตนไม่มีอคติไม่รู้จักไม่เคยคุยไม่เคยพบแม้แต่ครั้งเดียว ก็ด้วยความเป็นห่วงในความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ ในฐานะบุคคลที่ต้องมาทำหน้าที่ในการกลั่นกรองหรือคัดกรองบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์หรือรักษาผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ก็ต้องนำเสนอเรื่องเหล่านี้เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้พิจารณา" สว.เสรี กล่าว









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.