พารู้จัก ตุ๊กกายถ้ำสระบุรี สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่การรักษาระบบนิเวศถ้ำและภูเขาหินปูน จะทำให้ตุ๊กกายยังดำรงเผ่าพันธุ์ได้ต่อไป
28 ส.ค. 2566, 18:26
ตุ๊กกายถ้ำสระบุรี Chanhom's bent-toed gecko เป็นสัตว์จำพวกตุ๊กแก/จิ้งจก โดยตุ๊กกายมีความแตกต่างจากตุ๊กแกที่นิ้วเท้าจะมีเพียงเล็บ ไม่มีตุ่มแผ่นหนังใต้นิ้วเท้า และตุ๊กกายมักจะมีลวดลาย สีสันสวยงาม อาศัยอยู่ตามป่าหรือถ้ำ
ภายในถ้ำเขาหินปูน ในเขตจังหวัดสระบุรีและลพบุรี เป็นถิ่นอาศัยของตุ๊กกายเฉพาะถิ่นซึ่งทั่วโลกพบได้เฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น และเป็นตุ๊กกายที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง คือตุ๊กกายถ้ำสระบุรี หรือตุ๊กกายถ้ำหางขาว (Cyrtodactylus chanhomeae)
ด้วยลักษณะสีลำตัวเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน พาดขวางด้วยแถบสีน้ำตาลเข้ม 3 แถบ และมีแถบเส้นเล็กสีน้ำตาลเข้มแทรกระหว่างลายแถบใหญ่ หัวมีแถบสีน้ำตาลเข้มคาดผ่านตาทั้งสองข้างมาบรรจบที่คอ ลักษณะเด่นที่สำคัญคือโคนหางเป็นลายปล้องแล้วส่วนปลายหางจะเป็นสีขาว
อาศัยและหากินภายในถ้ำทั้งกลางวันและกลางคืน พบหากินนอกถ้ำเวลากลางคืนบ้างแต่ก็ไม่เคยพบหากินห่างจากเขาหินปูนเลย
เนื่องจากถิ่นอาศัยของตุ๊กกายถ้ำสระบุรีถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมเหมืองหิน จึงถูกจัดให้มีสถานภาพเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามยังพบมีประชากรมากและพบเจอได้ง่ายในถิ่นอาศัยที่เหมาะสม ดังนั้นการรักษาระบบนิเวศถ้ำและภูเขาหินปูนไว้ จะเป็นความหวังให้ตุ๊กกายที่สวยงามชนิดนี้ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ต่อไป