จนท.ลุยตรวจสอบ ช้างป่าทำลายสวนทุเรียน เร่งหาทางแก้ไข เยียวยา
29 ส.ค. 2566, 12:57
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 ส.ค.66 นายอับดุลอายี สาแม็ง สส.ยะลา เขต3 พร้อมด้วย นายมานิตย์ ยศศักดิ์ ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่งคง นำเจ้าหน้าที่ อส. ชป.เสือดำ, เจ้าหน้าที่อุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ป่าไม้, ตำรวจ, กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านอังหมอเหลา ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา หลังจากได้ทราบว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่กล้าเดินทางเข้าไปในสวนเพื่อทำการเกษตร เพราะเกรงจะได้รับอันตราย จากช้างป่าที่ได้เข้ามาทำลายสวนทุเรียนของชาวบ้านเป็นประจำ
เจ้าหน้าที่ใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ ขับไปตามเส้นทางบ้านบ่อน้ำร้อน-บ้านอังหมอเหลา ขึ้นไปบนเขาสูงชัน ผ่านสวนยางพารา สวนผลไม้ ของชาวบ้าน จนถึงสวนทุเรียนแปลงที่ถูกช้างป่า ทำลายต้นทุเรียนเป็นประจำ ซึ่งห่างจากชายแดนไทยมาเลเซียประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบต้นทุเรียนจำนวนมาก ถูกช้างป่าทำลาย มีทั้งต้นที่ถูกถอนลากถอนโคน บางต้นก็ถูกทำลายบางส่วน มีทั้งต้นที่ถูกทำลายใหม่และเก่า และยังเจอมีช้างจำนวนมาก อยู่กระจัดกระจายเต็มสวน เดินไปบริเวณไหนก็พบแต่ขี้ช้าง และร่องรอยของช้าง แม้แต่ตามเส้นทางก็พบขี้ช้าง ยิ่งขึ้นไปบนยอดเขา ก็ยิ่งพบร่องรอยของช้างมากขี้น รอยเท้าก็มีหลายขนาด ขี้ช้างก็พบจำนวนมากขึ้น และป่าหญ้าข้างๆสวนก็ราบเรียบเหมือนเป็นที่พักของช้าง สวนทุเรียนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนที่อยู่อาศัยที่หากินของช้างเลยก็ว่าได้ ถังน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ระบบน้ำต่างๆ ก็ถูกช้างป่าทำลายเสียหาย แต่ไม่พบโขลงช้างป่า
นายโชคดี แซ่หลี เจ้าของสวนเล่าให้ฟังว่า สวนของตนปลูกทุเรียนประมาณ 500 ต้น มีต้นทุเรียนหลายขนาด มีทั้งต้นที่ปลูกมา 7-8 ปี ซึ่งก็กำลังออกผลผลิต และก็มีต้นที่ปลูก 3-4 ปี เมื่อประมาณ อาทิตย์ที่แล้วช่วงกลางคืนมีช้างป่า เข้ามาทำลายต้นทุเรียน กินลูกทุเรียน ตอนแรกก็คิดช้างป่าไปแล้วคงไม่เป็นไร แต่ที่ไหนได้ ช้างป่ากลับมาอีกและไม่มีทีท่าว่าจะไป แถมยังทำลายต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น จนตอนนี้ต้นทุเรียนเสียหายไปแล้วประมาณ 150 ต้น ค่าเสียหายก็ประมาณ 2 ล้านบาท ช้างป่าโขลงนี้ตนก็ไม่ทราบว่ามีกี่ตัวแต่คาดว่าน่าจะมีมากเพราะมีขี้ช้างจำนวนมากและร่องรอยของช้างหลายขนาดอยู่ทั่วบริเวณสวน ปกติตนกับพ่อแม่จะเข้ามาที่สวนเป็นประจำแต่ช้างมาแบบนี้ จึงทำให้ไม่กล้าเข้ามาที่สวน
ด้านนายอับดุลอายี สาแม็ง สส.ยะลา เขต3 กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบความเดือดร้อนของชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวสวนทุเรียน เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางแก้ไขเยียวยา ช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งปัญหาช้างป่าก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของพื้นที่จังหวัดยะลา ก็ว่าได้ ข้อมูลที่ทราบจากเจ้าหน้าที่อุทยานขณะนี้ มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ถึง 27 หมู่บ้าน ใน 4 อำเภอของจังหวัดยะลา คือ อำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา และอำเภอกาบัง ค่าเสียหายประมาณ 100 ล้านบาทได้ ปัญหานี้ ตนได้มีการพูดคุยในสภาและกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับการแนะนำจากปลัดกระทรวง ว่าควรให้ความรู้กับชาวบ้านในการป้องกันอย่างไร ในส่วนที่เสียหายแล้ว ก็ให้สำรวจความเสียหาย เก็บหลักฐานต่างๆ ถ่ายภาพทำบันทึกความเสียหาย ซึ่งปัญหานี้อาจจะต้องทำการปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างไร อาจจะต้องตั้งกองทุนขึ้นเพื่อนำเงินมาเยียวยาพี่น้อง
ด้านนายมานิตย์ ยศศักดิ์ ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่งคง เปิดเผยว่า พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรของเกษตรอำเภอเบตง (สมุดเล่มเขียว) ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการออกสำรวจความเสียหาย และทำการขั้นตอนการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรตามกรอบที่กฎหมายกำหนดต่อไป