กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบยา ‘ฟลูอัลปราโซแลม’ ครั้งแรกในไทย อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
31 ส.ค. 2566, 18:01
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 จ.สงขลา ได้รับของกลางมาตรวจวิเคราะห์ ลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้มอ่อน ด้านหนึ่งพิมพ์เลข 5 อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์ตัวอักษรต่างประเทศ บนแผงพิมพ์ชื่อ “Erimin 5” คาดว่าเป็นการผลิตและลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบตัวยา ชื่อ “ฟลูอัลปราโซแลม” ซึ่งประเทศไทยมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2565 ให้ฟลูอัลปราโซแลม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 1 ลำดับที่ 27 คือ ห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามใช้ แม้กระทั่งทางการแพทย์ก็ไม่มีการให้ใช้ ซึ่งการตรวจครั้งนี้ถือว่าเป็นการตรวจพบครั้งแรก ส่วนที่มีการออกประกาศไว้นั้น เนื่องจากเคยพบวัตถุออกฤทธิ์ฯ ตัวนี้ในต่างประเทศมาก่อน
สำหรับยาดังกล่าวเป็นยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ ซึ่งตัวยาที่เป็นที่รู้จักกันและนำมาใช้ในทางการแพทย์ คือ ไดอะซีแพม มีทั้งขนาด 2 มิลลิกรัม และ 5 มิลลิกรัม ช่วยเรื่องนอนไม่หลับ วิตกกังวล ส่วน อัลปราโซแลม เป็นตัวยาที่แพทย์สามารถสั่งให้ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างมาก หรือหลับยาก และอยากให้ออกฤทธิ์ไว โดยออกฤทธิ์นานประมาณ 6 ชั่วโมง
แต่เนื่องจากอัลปราโซแลมไม่มีกลิ่นไม่มีรส จึงมีคนนำมาใช้ก่ออาชญากรรม เช่น ผสมน้ำหลอกให้ดื่ม ซึ่งยาจะไปออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการซึม หมดสติและนอนหลับไป ที่สำคัญคือจำอะไรไม่ค่อยได้ หลงลืม หรือถ้ามีอาการมาก อาจทำให้ใจสั่น วูบหมดสติ ซึ่งยาฟลูอัลปราโซแลมนั้น สูตรทางเคมีเหมือนกับอัลปราโซแลม แต่มีการเพิ่มสารตัวอื่นเพื่อให้มีฤทธิ์บางอย่างเพิ่มเข้าไป แต่เนื่องจากไม่มีการใช้ทางการแพทย์ ทำให้ไม่ทราบอาการที่แน่ชัด แต่น่าจะออกฤทธิ์เหมือนอัลปราโซแลมที่ออกฤทธิ์เร็ว แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานกว่า คือ 6-14 ชั่วโมง
นพ.ศุภกิจ ระบุว่า แม้จะพบตัวอย่างในภาคใต้ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นจะไม่มี จึงต้องเตือนประชาชน เพื่อให้ระมัดระวัง ไม่ควรดื่มกินอาหารจากบุคคลที่ไม่รู้จัก เพราะอาจจะไม่ใช่แค่หลับ แต่อาจอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย ซึ่งยาดังกล่าว หากไม่ได้รับจำนวนมากแบบเป็นกำ พิษอาจไม่ถึงเสียชีวิต แต่ถ้าดื่มน้ำเข้าไปแล้วรู้สึกมึนงง สับสน จำอะไรไม่ได้ ให้เอะใจ และให้เพื่อนรีบพากลับบ้าน ซึ่งร่างกายจะค่อยๆกำจัดสารออกไป
ด้าน นพ.พิเชษ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า Erimin 5 นั้นเคยมีการจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนจะยกเลิกทะเบียนไป ดังนั้น Erimin 5 ถือว่าผิดกฎหมาย แต่แม้จะยกเลิกทะเบียนไปแล้ว ก็ยังมีการนำรูปลักษณ์ของยาตัวนี้มาใช้ แต่สูตรเคมีด้านในเป็นยาตัวอื่น อย่างครั้งนี้เจอเป็นตัวฟลูอัลปราโซแลมที่ถือว่าเป็นการพบครั้งแรกในไทย แต่จริงๆ เคยมีการพบในต่างประเทศมาแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยมีรายงานในต่างประเทศอาจทำให้หมดสติและโคมา หรือพบในอเมริกาที่มีการขายผ่านอินเทอร์เน็ตในกลุ่มวัยรุ่นผู้ชาย เอาไปใช้ในทางที่ผิด ไปมอมเมาหรือใช้ในทางอาชญากรรม