ภาพชุด! "เศรษฐา" ควง "ธรรมนัส" ลุยแม่กลอง เร่งแก้ปัญหาประมง-แรงงาน
1 ก.ย. 2566, 14:55
วันนี้ ( 1 ก.ย.66 ) เพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นางมนพร เจริญศรี สส.นครพนม นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม นางนลินี ทวีสิน คณะทำงานด้านนโยบายต่างประเทศ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม คณะทำงานด้านนโยบายการท่องเที่ยว นางสาวณิชาภา โกวิทานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.สมุทรสงคราม พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายไผ่ ลิกค์ ว่าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสส. พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและภาคการประมง ณ ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีพี่น้องชาวประมงจังหวัดสุมทรสงครามและใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังและสะท้อนปัญหาร่วมกว่า 200 คน
ประเด็นสำคัญในครั้งนี้ คือผลกระทบจากความพยายามปลดล็อกใบเหลืองจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ซึ่งในปี 2562 ไทยได้รับการปลดใบเหลืองแล้ว โดยการออก พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ฉบับแก้ไขที่ส่งผลต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ตัวแทนชาวประมงได้เสนอประเด็นปัญหาหลายด้าน เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเรือประมง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดเวลา (Overstay) ขั้นตอนและหน่วยงานที่รับผิดชอบมากเกินไปซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก กฎหมายประมงที่กำหนดโทษรุนแรงกว่าเหตุ พร้อมขอให้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับเรือประมง และขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เข้ามาที่นี่อีกครั้ง เพื่อรับฟังปัญหาพร้อมผู้ที่รู้จริงทำจริง และเตรียมทำงานร่วมกัน คณะทำงานจะเดินหน้าทำงานเต็มที่ โดยจะเริ่มศึกษาการปลดล็อกปัญหาด้านแรงงาน หารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน และมีแนวคิดจะทำ One Stop Service งานเอกสารที่ยังเป็นกระดาษ อยากให้ใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด หากประเด็นใดที่อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี สามารถตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้ จะทำก่อน แต่อาจจะทำไม่ได้ในคราวเดียวทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องกฎหมายที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการประมง ที่ตกไป 13 ฉบับ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ ในส่วนการบังคับติดตั้งวิทยุขาวดำบนเรือซึ่งไม่มีความสำคัญ อาจจะมีการพิจารณายกเลิก
ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเริ่มจากการเปิดการเจรจาระหว่างประเทศในการเปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียมีทรัพยากร ส่วนไทยมีความรู้ความสามารถในการทำการประมง หากจัดสรรกันอย่างลงตัว จะเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ง่ายขึ้น
“8-9 ปีที่ผ่านมา ที่ประมงไทยต้องหยุดชะงัก ติดหล่ม ไม่อยากโทษใคร แม้ประเทศไทยเคยส่งออกสัตว์ประมงได้ 350,000 ล้านบาท ตอนนี้นำเข้า 150,000 ล้านบาท ผ่านมากี่ปีสูญเสียเงินไปเท่าไหร่ ซึ่งเราต้องไปแก้ไขกัน เดินหน้าดีกว่า อย่ามองปัญหาเก่า ขอให้พี่น้องมั่นใจในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดใหม่ เราเป็นรัฐบาลของประชาชน เราเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคน มีความเป็นห่วงต่อประชาชนและมีความเป็นห่วงประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มศึกษาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับกฎระเบียบและกฎหมายลูกด้านการประมง โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ ส่วนการศึกษากฏหมายหลักด้านการประมง มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อประธานสภาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาโดยเร็วที่สุด ส่วนการเจรจาระหว่างประเทศ จะเริ่มการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพื่อนำไปสู่การเจรจากับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นเจ้าของระเบียบ IUU และจะเจรจากับสหภาพยุโรปในลำดับต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง กลับไปสู่การเป็นเจ้าสมุทรอีกครั้ง