“พัชรวาท” เข้าทำงาน ทส. วันแรก มอบแนวทางการทำงาน “ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัย” ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
15 ก.ย. 2566, 16:56
วานนี้ (14 กันยายน 2566) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการวันแรก พร้อมเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) นำคณะผู้บริหาร ทส. รอให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 202 ชั้น 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กล่าวขอบคุณผู้บริหารของทุกหน่วยงาน ที่ได้เตรียมความพร้อมและจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการชี้แจงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นอย่างดี พร้อมมอบข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวนโยบายให้แก่ทุกหน่วยงานนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดต่อไป ผ่านหลักในการปฏิบัติงาน นั่นคือ ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัย โดย “ขยัน” คือ การมาทำงานตรงเวลา ไม่เกียจคร้าน “ซื่อสัตย์” คือ การทำงานตรงไปตรงมา โปร่งใส “อดทน” แม้งานจะหนักแต่ต้องสู้ ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และ “มีวินัย” คือการทำตามหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งงานต้องยึดปฏิบัติ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกำลังจะเข้าใกล้ฤดูหนาว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือเรื่อง ไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5 โดยขอให้ทุกฝ่ายเตรียมรับมือให้พร้อม ผ่านการร่วมกันคิด แนะนำ แสดงความคิดเห็นในส่วนที่จะทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในการทำงานจะต้องมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภายในและภายนอกหน่วยอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาชื่อเสียงหน่วยงาน อย่าให้ใครมาตำหนิการทำงานของกระทรวงฯ หากมีปัญหาให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ
“สุดท้ายนี้ผมขอยกพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวย ๆ งาม ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย”