เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รัฐบาลแถลงความพร้อมการเตรียมการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค


11 ต.ค. 2562, 14:03



รัฐบาลแถลงความพร้อมการเตรียมการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค




วันนี้ ( 11 ต.ค.62 ) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณืชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นำผู้แทนฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคมนี้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณืชย์ กล่าวว่า คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้รวบรวมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี การจัดขบวนเรือ ความหมายของเรือ บทเห่เรือ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ไปเฝ้าฯ รับเสด็จ ไว้ในสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ www.phralan.in.th เฟซบุ๊กพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และ ไลน์ @ บรมราชาภิเษก

นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมพื้นที่สำหรับประชาชนรองรับประชาชนที่เดินทางไปชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ว่า บริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับประชาชนได้ 40,000 คน แบ่งเป็นพื้นที่ชุมชน บ้านเรือน พื้นที่เอกชนห้างร้านและพื้นที่สาธารณะ รวมถึงหน่วยงานราชการ เช่น สวนสันติชัยปราการ สวนนาคราภิรมย์ ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ใต้สะพานพระราม 8 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2562 กรุงเทพมหานครจะเข้าพื้นที่ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ พร้อมทั้งตกแต่งสถานที่เฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้งทางบกและทางน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 

พลเรือโท จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า ขบวนเรือที่ใช้ในพระราชพิธีมีทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลฝีพาย 2,200 นาย ซึ่งขบวนเรือแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว ริ้วที่ 1 และริ้วที่ 5 เป็นเรือดั้งจะอยู่รอบนอกริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ริ้วที่ 2 และริ้วที่ 4 เป็นเรือรูปสัตว์ถัดเข้ามาด้านใน และริ้วที่ 3 เป็นริ้วที่อยู่ตรงกลางเป็นขบวนเรือพระที่นั่ง ซึ่งการเคลื่อนขบวนเรือทั้ง 52 ลำจะมีความยาว 1.2 กิโลเมตร จะเคลื่อนตั้งแต่ท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิฐ รวมระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ที่ผ่านมามีการฝึกซ้อมย่อมทั้งหมด 10 ครั้ง และกำหนดฝึกซ้อมใหญ่ 2 ครั้ง แบบเหมือนจริงในวันที่ 17 และ 21 ตุลาคมนี้ 

พลตำรวจโท ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการยุทธศาสตร์ตำรวจ กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย การตั้งจุดคัดกรองและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าพื้นที่ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนรถไฟโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้ประชาชนขึ้นจากภูมิภาคต่างๆ เข้ามายังพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร 4 ทิศ ที่สถานีรถไฟนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังเตรียมจุดจอดรถใน กทม. 3 แห่ง คือ ฝั่งพระนคร สถานีรถไฟฟ้า MRT ลาดพร้าว และฝั่งธนบุรี มหาวิทยาลัยทองสุขและอู่รถ ขสมก. ส่วนที่ปริมณฑลจัดจุดจอดรถไว้ 4 มุมเมือง รวม 27 จุด ซึ่งทุกแห่งจะมีรถ Shuttle Bus บริการไม่เสียค่าใช้จ่ายนำเข้าสู่พื้นที่ชมพระราชพิธี โดยจุดรวมพลรถ Shuttle Bus จะมีโรงครัวพระราชทาน อาหาร น้ำดื่ม และหน่วยบริการทางการแพทย์ไว้รองรับประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนไม่สามารถเดินทางไปชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคด้วยตนเอง สามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุทั่วประเทศ โดยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นแม่ข่าย ในวันที่ 24 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 15.15 น. เป็นต้นไป









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.