รอลุ้นผล ! "ยูเนสโก" พิจารณา "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลกแห่งใหม่
19 ก.ย. 2566, 10:37
วันนี้ (19 กันยายน 2566 ) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก กรุงริยาด ราชอาณาจักร ซาอุดิอาระเบีย ครั้งที่ 45 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 เบื้องต้นจะนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คาดว่าจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณา ในเวลาประมาณ 10.00 น. ซึ่งตรงกับเวลาในประเทศไทย คือ 14.00 น.
สำหรับ การนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก เริ่มดำเนินการโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยความร่วมมือกับกรมศิลปากร ในการศึกษาและจัดทำเอกสารดำเนินการ การนำเสนอประกอบด้วย
1. เมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี 2 ชั้น คือ เมืองใน และเมืองนอก
2. เขาคลังนอก ศาสนสถานขนาดใหญ่ สมัยทวารวดี เป็นตัวแทนความเชื่อในเรื่องมณฑลจักรวาล
3. ถ้ำเขาถมอรัตน์ ที่ตั้งของศาสนสถาน ที่สำคัญบนยอดเขาถมอรัตน์ พบภาพสลักพระพุทธรูปโบราณ และเป็นศาสนสถานสำคัญที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพ และ
4.ประติมากรรม ในสกุลช่างศรีเทพ ที่มีความโดดเด่น สลักลอยตัว เอียงตน และมีลักษณะสีหน้าแบบผสมผสาน แตกต่างจากประติมากรรมในยุคเดียวกัน
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากแม่น้ำป่าสัก ไปทางทิศตะวันออกราว 4 กิโลเมตร ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ พื้นที่ราว 4.7 ตารางกิโลเมตร (ราว 2,900 ไร่) ประกอบด้วยชุมชนโบราณในลักษณะเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ และกลุ่มโบราณสถานสำคัญที่มีความโดดเด่นทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สามารถติดต่อกับภูมิภาคอื่นๆได้สะดวก และความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย ยุคทวารวดี จนถึงยุคขอมเรืองอำนาจ
ด้วยเอกลักษณ์และความสำคัญของเมืองศรีเทพ จึงมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ทวารวดี หรือเมืองศรีเทพนั้น คือ ทวารวดี ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่เชื่อกันมา
เมืองเก่าศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมื่อเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2447–2448 และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" ตามชื่อเมืองที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สำรวจพบว่าเมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 ลงวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 กระทั่งใน พ.ศ. 2527 เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ โดยการกำกับดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร