มท.1 มอบนโยบายสำคัญ 10 ข้อ ขับเคลื่อนงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
25 ก.ย. 2566, 14:48
วันนี้ ( 25 ก.ย.66 ) เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุม 5501 ชั้น 5 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและเป็นประธานมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและการส่งเสริมดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมมอบนโยบาย โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมรับมอบนโยบาย โดย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ผศ.พิเศษ ดร.วีระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,849 แห่ง ร่วมรับฟัง
โอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมนิทรรศการเส้นทางความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน นิทรรศการอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ของกระทรวงมหาดไทย และนิทรรศการการพัฒนาและถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และรับฟังการบรรยายสรุป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ อันมีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างครบวงจร
"ขอให้ท่านผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ทีมกระทรวงมหาดไทย” โดยยึดหลัก “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ซึ่งหมายความว่า เราต้องรู้เท่าทันความเป็นไปของโลกเพียงพอที่จะเห็นวิกฤตและโอกาสที่จะมาถึงบ้านเรา และต้องมีความทันสมัย เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในสังคม สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งต้องมีความว่องไวคล่องตัว ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที ช่วยกัน "ทำให้ 3 คำนี้ กลายเป็นภาพจำของพี่น้องประชาชนเมื่อคิดถึงการทำงานของกระทรวงมหาดไทย" โดยมีนโยบาย 10 ประการเพื่อขับเคลื่อนงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แก่
1. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ โดยส่งเสริมให้ อปท. น้อมนาเอาแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขในทุกมิติของชีวิต โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
2. น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีค่าครองชีพสูงขึ้นจากการซื้อน้าดื่ม โดยขอให้ สถ. ขยายผลให้ครัวเรือนเข้าถึงน้ำสะอาด ผ่านการก่อสร้างปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำอุปโภคบริโภค การพัฒนาระบบผลิตน้ำประปา และธนาคารน้ำใต้ดิน โดยให้ครอบคลุมพื้นที่ที่การประปาส่วนภูมิภาคให้บริการไม่ถึง รวมถึงการพัฒนามาตรฐานคุณภาพน้ำประปาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการสำรวจตรวจสอบคุณภาพอยู่เสมอ
3. การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยขอให้ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell Cell และ Solar Rooftop Rooftop ในสถานที่ราชการ และใช้กับไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของ อปท. ในระยะยาว พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Road Map) เพื่อเป็นแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายน้ำมันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพิจารณาจัดหารถพลังงานสะอาด อาทิ รถพลังงานไฟฟ้า (EV) มาใช้งาน ทั้งนี้ ขอให้ สถ. พิจารณานำร่องดำเนินการใน อปท. ที่มีความพร้อม และทำให้เป็นต้นแบบเพื่อนำสู่การขยายผลต่อไป
4. พลังงานสะอาด ส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชน สร้างรายได้ จากพลังงานสะอาด โดยการจัดตั้งธนาคารคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ทุกจังหวัด ผ่านการปลูกไม้ยืนต้น การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล
5. จัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตรวจสอบติดตามผู้มีอิทธิพลที่เป็นกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อย หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเสนอราคา มีการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นจากการอนุญาตในเรื่องที่ตนมีอานาจในทางมิชอบ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข
6. บริการประชาชนแบบ One Stop Service มุ่งเน้นการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการให้บริการประชาชนผ่าน e-Service ยกระดับแพลตฟอร์มที่ใช้งานอยู่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในแพลตฟอร์มเดียว รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ในการบริหารงานท้องถิ่นผ่านทางช่องทางออนไลน์
7. อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว หลักการดูแลนักท่องเที่ยวที่สำคัญ คือการสร้าง “ความปลอดภัย ความสะดวก และแรงดึงดูด” จึงขอให้ อปท. วางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาระบบการดูแลความปลอดภัย สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว ใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ
8. ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย โดยส่งเสริมให้ อปท. สนับสนุนการจัดกิจกรรมตลาดนัดชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนสามารถนำสินค้ามาจำหน่าย และแสวงหาช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสการจัดจำหน่ายด้วย
9. แก้ไขปัญหายาเสพติด ขอให้ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมของศูนย์คัดกรอง และศูนย์ฟื้นฟูสภาพ ทางสังคมในส่วนของ อปท. และพิจารณาให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์แก่ “ผู้ป่วย” ที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามอำนาจหน้าที่
10. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเตรียมความพร้อมท้องถิ่น รองรับสังคมผู้สูงอายุ เพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิ และการสร้างเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน โดยสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมยกระดับบริการต่อไป โดยต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เรื่องความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และงบประมาณในการดูแลปฐมภูมิ
นอกจากนี้ สำหรับประเด็นสังคมผู้สูงวัยนั้น ขอให้ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้มีสถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่น เพื่อบริบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้าย พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทุกเพศทุกวัยในครอบครัว เกี่ยวกับความต้องการเฉพาะของผู้สูงวัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย
"ขอให้ทุกท่านนำผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติราชการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความแจ่มใสและโปร่งใส ผมและผู้บริหารทุกคนในกระทรวงมหาดไทย พร้อมสนับสนุนภารกิจทุกประการ" มท.1 กล่าวในช่วงท้าย
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ดังคำกล่าว "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ซึ่งทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัด ที่จะขับเคลื่อนต้องอาศัยองคาพยพ เพราะเรามีบุคลากรและภาคีเครือข่ายลงไปถึงระดับหมู่บ้าน/ชุมชน "มี อปท. ทั้ง 7,849 แห่ง และ กทม. เป็น "ผู้แทนประชาชน"" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ใกล้ชิดประชาชน หาก อปท. สามารถขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ ประชาชนจะมีความสุข ซึ่งทุกวันนี้ระบบบริการต่าง ๆ และอำนาจต่าง ๆ ได้ถูกกระจายถ่ายโอนไปยัง อปท. ทั้งนี้ อปท. จะมีความแตกต่างการบริหารจัดการตามบริบทพื้นที่ ดังนั้น สถ. ต้องกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นตามกฎหมาย ลดการกำหนดกฎเกณฑ์ เน้นการ "ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น" และส่งเสริมให้ อปท. นำขยะไปแปรรูปเพื่อมีรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ อปท. บริหารกิจการพื้นที่เพื่อประชาชนให้มากที่สุด
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัวมหาดไทย จะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศซึ่งเป็น "พี่น้องของพวกเรา" ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้พี่น้องประชาชนอย่างครบวงจร