เฝ้าระวัง! "ลุ่มน้ำชี-มูล" ปริมาณน้ำสูงขึ้นจนถึงต้นต.ค. ล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ ลุ่มต่ำ จ.กาฬสินธุ์-อุบลฯ
26 ก.ย. 2566, 08:34
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ประกาศฉบับที่ 21/2566 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.66 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ย.66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำปาว ปัจจุบันปริมาณน้ำคิดเป็นร้อยละ 102.67 ของความจุเก็บกัก จึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ในอัตราวันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึงประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลำปาวมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายน้ำได้
จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน (วันที่ 25 ก.ย.66) ระดับน้ำ +112.21เมตร ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 0.21 เมตร จากปริมาณฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าในวันที่ 2 ต.ค.66 ระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับ +112.84 ม.รทก.(สูงกว่าตลิ่ง 0.84 ม.) ซึ่งปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ
จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้
1. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
2. วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทานเพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งจัดการจราจรทางน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นที่สูงหรืออพยพได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์