เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สวนสัตว์บึงฉวาก ใช้ Magnetotherapy Vet รักษา "โขง" ลูกเสือโคร่งของกลาง หลังพบก้อนบวมขาหน้าซ้าย


30 ก.ย. 2566, 08:19



สวนสัตว์บึงฉวาก ใช้ Magnetotherapy Vet  รักษา "โขง" ลูกเสือโคร่งของกลาง หลังพบก้อนบวมขาหน้าซ้าย




วันที่ 29 ก.ย. 66 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า ตั้งแต่เวลา 10.00 - 12.00 น. ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง) ทำการรักษาลูกเสือโคร่ง เพศผู้ ชื่อโขง (สัตว์ป่าของกลาง) โดยใช้เครื่องแมคเนโต Magnetotherapy Vet  (เครื่องมือแพทย์ที่ให้การรักษาด้วยพลังงานสนามแม่เหล็ก) ที่ได้รับมอบจาก คุณกัญจนา ศิลปอาชา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 เพื่อใช้ทำการรักษาสัตว์ป่าป่วยของศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี และ สัตว์ป่าในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

 



สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยรายละเอียดการรักษา ลูกเสือโคร่ง (โขง) ว่า อาการป่วยที่พบ บริเวณข้อศอก ขาหน้าข้างซ้าย เป็นก้อนบวม กดคลำตรวจพบว่ามีลักษณะนิ่ม มีของเหลวอยู่ภายใน เป็นลักษณะของการอักเสบ เกิดการจากการกดทับบนพื้นปูนบ่อยครั้ง และยาวนาน ซึ่งเสือโคร่ง (โขง) มีพฤติกรรมชอบนอนบนพื้นปูนเป็นส่วนใหญ่ 

จึงได้ทำการใช้เครื่องแมคเนโต  Magnetotherapy Vet  (เครื่องมือแพทย์ที่ให้การรักษาด้วยพลังงานสนามแม่เหล็ก)  ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารักษา เพื่อลดอาการบวม อักเสบ และลดปวด โดยการให้ลูกเสือโคร่ง (โขง) นอนทับแผ่นปล่อยคลื่นแม่เหล็กแม่ไฟฟ้า โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทะลุ ทะลวงไปยังเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ ตามโปรแกรมการรักษาที่ตั้งไว้กับตัวเครื่อง


ด้าน สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โปรแกรมการรักษา ในช่วงระยะเวลา 14 วันแรก จะต้องทำการรักษาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยตั้งเวลาไว้ 20 นาที ต่อ 1 ครั้ง และหลังจากครบ 14 วัน ให้ทิ้งช่วงการรักษา 2-3 วัน ต่อ 1 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น 

ทั้งนี้ การรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดนี้ จะลดปริมาณการใช้ยารักษากับสัตว์ป่วยได้ กรณีสัตว์ป่วยมีแผลเรื้อรัง มีอาการปวดบวมอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และกรณีกระดูกแตกหัก (เพิ่มการเชื่อมติดกันของกระดูก เพิ่มมวลกระดูกในภาวะกระดูกบาง)  

นอกจากนี้ ภายในคอกนอนของลูกเสือโคร่ง ขิง ข้าว และ โขง จะต้องทำการเพิ่มแคร่ไม้ สำหรับให้ลูกเสือนอนเพิ่มเติม เพื่อลดการกดทับของข้อศอกกับพื้นปูนด้วย






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.