นายกฯ แจงเฝ้าระวังค่าเงินบาทอ่อน ไม่แทรกแซงปล่อยตามกลไกตลาด ยันมีผลได้-ผลเสีย
3 ต.ค. 2566, 15:02
วันนี้ ( 3 ต.ค.66 ) เวลา 11.40 น. ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงนั้นต้องมีการเฝ้าระวังโดยไม่เข้าไปแทรกแซงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด การที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงนั้นไม่ได้ส่งผลเสียทั้งหมด การส่งออกซึ่งเป็นส่วนประกอบของจีดีพีของประเทศไทยมากกว่า 50% ก็จะได้รับอานิสงส์ในเชิงบวก การท่องเที่ยวเองก็เป็น 20% ของจีดีพีทั้งหมด แต่ต้องดูให้เหมาะสม โดยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการจับตาและดูแลอยู่ ส่วนการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันเยอะอาจเกิดผลกระทบเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องมีการหาพลังงานทดแทนและต้องใช้แผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหา
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นการทำงานในลักษณะที่ไม่ต้องมีองค์ประชุมใหญ่ มีการสั่งการรับฟังความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นมิติใหม่ในการทำงาน ไม่ต้องมีความเป็นทางการมาก ไม่ต้องมีการเตรียมงาน เป็นการกระตุ้นให้ทุกคนมีข้อมูลพร้อมตลอดเวลา โดยขอให้ผู้ร่วมงานทุกคน หัวหน้าหน่วยงานมีความกระตือรือร้นและไม่ต้องเครียดในการประชุม ส่วนประเด็นเรื่องความขัดแย้งของตำรวจระหว่างผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น จะเห็นว่ามีการพูดคุยกันเชิงบวกแล้ว การทำงานร่วมกันอาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าเรามีภารกิจใหญ่ ความมั่นคงของประเทศ ดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต ได้มีการพูดคุยกับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับนโยบายระยะยาวและระยะกลาง หากนโยบายเกิดขึ้นแล้วนั้นภาพรวมจะเป็นอย่างไรและให้คำแนะนำว่ารัฐบาลควรจะต้องดำเนินการอย่างไร หากเกิดเหตุฉุกเฉินรัฐบาลยืนยันว่าสถานภาพการเงินการค้าของประเทศไทยยังแข็งแรง ส่วนเรื่องของการชะลอสั่งซื้อยุทโธปกรณ์นั้น รัฐบาลยืนยันว่าการใช้งบประมาณต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อะไรที่ไม่มีความจำเป็นก็ขอให้ปรับลดลง ไม่ใช่แค่กองทัพอย่างเดียวรวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองเป็นหลักและผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน