"ชลประทานพิจิตร" ปักธงเหลืองเตือน! ปชช. เฝ้าระวังแม่น้ำน่าน-แม่น้ำยมขั้นสูงสุด หลังน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำแล้วกว่า 309 หลังคาเรือน
5 ต.ค. 2566, 12:44
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ในพื้นที่ด่านแรกของ จ.พิจิตร ที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจาก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปริมาณน้ำเริ่มไหลลงมายังพื้นที่ จ.พิจิตร มีสีขุ่นแดง ซึ่งมีระดับอยู่ที่ 5.15 เมตร มีปริมาณน้ำ 301 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที
โดยนายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร กล่าวว่า ทางชลประทานจังหวัดพิจิตร ได้นำธงสีเหลืองไปติดตั้งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำน่าน อ.เมืองพิจิตร และบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำยม อ.สามง่าม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แจ้งเตือนประชาน ที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยอยู่ริมตลิ่ง และพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ในพื้นที่ จ.พิจิตร ให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งขั้นสูงสุด หลังจาก จ.พิจิตร เริ่มรับมวลน้ำจากพื้นที่ จ.สุโขทัย และพิษณุโลก ไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว และมีน้ำป่า และน้ำทุ่งไหลบ่ามาสมทบ ทำให้แม่น้ำน่านและแม่น้ำยม เพิ่มระดับสูงสูงขึ้นต่อเนื่อง ก่อนมวลน้ำจะไหลไปสู่พื้นที่นครสวรรค์ อย่างไรก็ตามแม่น้ำน่าน ที่ไหลผ่าน อ.เมืองพิจิตร ตะพานหิน และบางมูลนาก สถานีตรวจวัดระดับน้ำน่าน N-7A อ.เมืองพิจิตรอยู่ที่ 8.39 เมตร อัตราการไหล 695.50 ลบ.ม.วินาที ต่ำกว่าจุดวิกฤต 1.48 เมตร สถานีตรวจวัดน้ำ N-8A อำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำอยู่ที่ 9.15เมตร อัตราการไหล 781.20 ลบ.ม./วินาที ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่สถานีวัดระดับน้ำ Y-17 หน้าที่ว่าว่าการ อ.สามง่าม อยู่ที่ 5.15 เมตร ต่ำกว่าจุดวิกฤต 1.61 เมตรอัตราการไหล 301.10 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นไปอีกประมาณ 40-50 ซม.ชลประทานจังหวัดพิจิตรก็จะติดธงแดงเพื่อแจ้งให้ประชาชนขนย้ายสัตว์สิ่งของขึ้นที่สูงได้ทราบต่อไป
ขณะที่บ้านเรือนประชาชน กว่า 10 หลังคาเรือน ในพื้นที่บ้านวังปลาทู หมู่ที่ 11 ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่ปลูกอยู่ริมน้ำ ถูกน้ำล้นตลิ่งไหลท่วมชั้นล่างของบ้าน และระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นจากน้ำที่ไหลลงมาตอนบน ซึ่งชาวบ้านอยากให้สำรวจสร้างเขื่อนของแม่น้ำยม เพื่อป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นประจำทุกปี
ด้านนางจำรัส ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า เวลาแม่น้ำยมมีปริมาณมาก มักจะท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งหากมีเขื่อนกักเก็บน้ำ เปิดปิดแม่น้ำยมก็จะดี และจะได้แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชน ใน 4 อำเภอ คือ อ.สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และบางมูลนาก ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 309 หลังคาเรือน ขณะที่ปริมาณฝนสะสมได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่เพิ่มเติมที่ ต.หอไกร อ.บางมูลนาก หมู่ 1,2,4 ประชาชนได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขัง 110 หลังคาเรือน ล่าสุดทางชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง เร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเสียหาย