รมว.ยุติธรรม มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา 45 ล้านบาท ผู้เสียหายคดีอาญาและทายาททั่วประเทศ
6 ต.ค. 2566, 15:06
วันนี้ ( 6 ต.ค.66 ) ในวันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๓๐ น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙) ให้แก่ผู้เสียหายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๕ ราย รวมเป็นเงิน ๑,๓๑๓,๔๑๑ บาท และพิธีเชิงสัญลักษณ์โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของผู้เสียหายทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง ๔๕ ล้านบาท รวมมีผู้เสียหายได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น ๘๕๐ ราย โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ตลอดจนสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องสนฉัตร ชั้น ๓ อาคารกระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งผ่านระบบออนไลน์ระบบ Webex Meeting
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สิ่งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงยุติธรรม เราจะนำหลักนิติธรรมมาใช้กับประชาชน ถ้าให้จับต้องได้ของหลักนิติธรรมเราต้องธำรงไว้ซึ่งหลักสูงสุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ รัฐธรรมนูญที่เป็นที่มาของการเกิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่ทำให้เรามาเจอกัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่เกิดจากประชาชนหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จัดทำรัฐธรรมนูญ เพราะเล็งเห็นว่ารัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองประชาชน รัฐได้รับงบประมาณจำนวนมากแล้วถ้าเกิดรัฐไปปกป้องคุ้มครองประชาชนไม่ได้ รัฐจะต้องช่วยเหลือเยียวยารัฐธรรมนูญฯ หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มาจนถึงปีรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ในมาตรา ๒๕ วรรคท้ายระบุไว้ว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ อาจจะถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ ถูกละเมิดสิทธิโดยบุคคลใด ๆ ซึ่งการถูกละเมิดสิทธิ คือ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือจากการกระทำความผิดทางอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า การเป็นผู้เสียหายหรือเป็นเหยื่ออาชญากรรมเป็นเรื่องที่คนไม่อยากให้เกิดขึ้น เหยื่ออาชญากรรมมีทั้งเกิดจากผู้ประกอบอาชญากรรมในหลายรูปแบบ เหยื่ออาชญากรรมจำนวนมากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด การไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดความจริงนั้นจะเป็นวัฒนธรรมที่ต้องไปเคร่งครัดกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายหรือพนักงานสอบสวน เพราะคนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมนั้นไม่ต้องการเงินหรือสิ่งที่รัฐมอบให้ แต่สิ่งที่ต้องการ คือ เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ควรจะเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดแล้วสิ่งที่ต้องการ คือ ต้องการความจริง ต้องการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือเอาทรัพย์สินหรือความเสียหายกลับคืนมา แต่ในจุดนี้อาจจะมีความบกพร่องหรือมีประสิทธิภาพที่ไปไม่ถึง เราจึงมีการเยียวยาเกิดขึ้นในกฎหมายฉบับนี้
และพบว่าอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้เห็นว่ารัฐยังให้การช่วยเหลือเยียวยา ต้องขอบคุณกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ได้พยายามพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่เป็นผู้เสียหายและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิด และมีความเข้มแข็งทางกฎหมายจนมาถึงวันนี้ ทำให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อมั่น พร้อมทั้งขอขอบคุณอีกครั้งต่อรัฐบาล ที่ได้เห็นใจผู้เสียหายและเหยื่อในคดีอาญาอนุมัติงบกลางเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม พร้อมทั้งขอเรียนว่า กระทรวงยุติธรรมจะแก้ไขพัฒนาการช่วยเหลือเยียวยาไม่ให้เกิดความล่าช้าเพื่อนำพาความยุติธรรมไปสู่ประชาชน