เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ห้ามพลาด เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาวงพระจันทร์ ปี 2563


26 ธ.ค. 2562, 15:24



ห้ามพลาด เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาวงพระจันทร์ ปี 2563




วันที่ 26 ธ.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี ขอเชิญร่วมงานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาวงพระจันทร์ ประจำปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563  15 วัน 15 คืน ณ วัดเขาวงพระจันทร์ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

 

นางจิรารัตน์ มีงาม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานลพบุรี ได้กล่าวกับ ผู้สื่อข่าว ONB NEWS   “เขาวงพระจันทร์” นับว่าเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดลพบุรี  โดยมีทางบันไดขึ้นสู่ยอดเขารวม 3,790 ขั้น มีความเชื่อว่าหากใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา จะประสบความสุข สมหวังทุกประการ


ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางขึ้นเขาเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาท กันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  โดยเฉพาะในช่วงการจัดงานประเพณีขึ้นเขาวงพระจันทร์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทางวัดเขาวงพระจันทร์เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีการประดับไฟสวยงาม รวมถึงมีร้านค้าไว้คอยให้บริการตลอดเส้นทาง และเมื่อเดินทางขึ้นถึงยอดเขา นอกจากจะได้กราบนมัสการรอยพระพุทธบาทเสริมสิริมงคลแล้ว ยังได้นมัสการเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ เช่น องค์เทพเจ้ากวนอู องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และหลวงพ่อโอภาสี รวมถึงยังได้ชมวิวอ่างเก็บน้ำรูปหัวใจสวยงามอยู่เบื้องล่างอีกด้วย

 


สำหรับในปีนี้ ทางวัดเขาวงพระจันทร์ ร่วมกับ ททท.สำนักงานลพบุรี อำเภอโคกสำโรง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงานประเพณีขึ้นเขาวงพระจันทร์ ภายใต้ชื่องาน “เทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาวงพระจันทร์” ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 25 มกราคม  ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2563  15 วัน 15 คืน ณ วัดเขาวงพระจันทร์ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้มากราบนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์ ตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลพบุรี


การเดินทาง : รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองลพบุรีใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน (ลพบุรี-โคกสำโรง) ประมาณ  25 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวขวาเข้าวัดเขาวงพระจันทร์ ตรงไปประมาณ 5 กิโลเมตร  / รถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่ง สายลพบุรี – โคกสำโรง ผ่านปากทางเข้าวัด และเหมารถจักรยานยนต์รับจ้างจากเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดเขาวงพระจันทร์ โทร. 087 – 5643225, และ ททท.สำนักงานลพบุรี  โทร. 036 – 770096 – 7 ทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. หรือ www.tat7.com และ Facebook Fanpage : Tat Lopburi

 

วัดเขาวงพระจันทร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองลพบุรีประมาณ 28 กม. ตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ตรงหลักกม.ที่ 178 มีทางแยกเลี้ยวขวาอีก 5 กม. ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยโป่งอำเภอโคกสำโรงบริเวณเชิงเขาจะเป็นที่ตั้งของวัดเขาวงพระจันทร์ จะมีทางบันไดไปสู่ยอดเขาประมาณ 3,799 ขั้นยอดเขานี้สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ถ้าวัดจากเชิงเขาถึงยอดเขาโดยแนวบันไดจะยาว 1,680 เมตร ใช้เวลาเดินทางจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าไม้ขึ้นสลับซับซ้อนเต็มไปหมด บางแห่งจะเป็นที่ลาด บางแห่งจะเป็นที่ชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาวงพระจันทร์จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา สถานที่นี้เป็นแหล่งสะสมวัตถุโบราณ ของหายากมากมาย และพระพิมพ์ต่างๆมากมาย เพราะ หลวงปู่ฟัก อดีตเจ้าอาวาสท่านเป็นนักสะสมพระเครื่องมาก่อนที่ท่านจะบวช ซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ได้ชมกันอีกด้วย

 



พระพุทธโชค หรือ "พระเชียงแสน" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดลพบุรี และใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย (รองจากพระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ) "พระพุทธโชค" ประดิษฐานอยู่บริเวณริมเชิงเขาวงพระจันทร์ โดยแรกเริ่มโครงการก่อสร้างจะใช้ชื่อว่า "พระเชียงแสน" องค์พระก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง 45 เมตร สูง 75 เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างองค์พระ 8 ปี (โดยประมาณ)

 

ในปัจจุบัน "พระเชียงแสน" ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 และมีการจัดพิธีถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธโชค" เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 และมีพิธีสมโภชพระพุทธโชค เมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคมรูปอื่น ตลอดจนพระมหาเถระที่มีชื่อเสียงร่วมประกอบพิธีอีกเป็นจำนวนมาก

 

ในส่วนบริเวณพื้นที่รอบๆองค์พระพุทธโชค ด้านหน้าเป็นลานกว้างประกอบไปด้วย บันไดขึ้นสู่องค์พระ, ศาลาธรรมขนาดใหญ่ จำนวน 2 หลัง, จุดชมวิว, อนุสรณ์หนุมาน ฯลฯ ด้านหลังเป็นพื้นที่จอดรถ, บันไดขึ้นสู่ด้านหลังองค์พระ และยังมีพื้นที่ในบางจุดยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

 

 

ตำนานเขาวงพระจันทร์
ท้าว กกขนาก ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระราม ตามตำนานเรื่องรามเกียรติ์ จึงถูกพระรามแผลงศร โดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้ แล้วพระรามก็สาบให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อนจะให้หนุมานลูกพระพาย(ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตายนอนรอความตาย ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวท้าวกกขนากก็เหาะตามมาเพื่อปรนนิบัติดูแลพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย ท้าวกกขนากได้แต่นอนแอ้งแม้งอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้และต่อมาเมื่อนางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร จึงเป็นเหตุผลให้เมืองลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง๔ ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า "เขาวงพระจันทร์" นับตั้งแต่นั้นมา

 


สิ่งมหัศจรรย์ 9 อย่าง
มีรอยพระพุทธบาทแท้ (รอยพระบาทที่ 4)
มีรอยเขี้ยวแก้วพระพุทธเจ้าแท้
หลวงปู่ฟัก อายุ 93 ปี อดีตเจ้าอาวาส ฉันมังสะวิรัติตลอดชีวิต,ไม่สรงน้ำ(อาบน้ำ)ตลอดชีวิต
มีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองจำนวนมาก
มีพิพิธภัณฑ์ พ้นล้าน
มีบันไดขึ้นเขา 3,799 ขั้น
มีต้นปลัดขิก ธรรมชาติ
มีควาย 3 เขา แห่งเดียวในโลก
มีงาช้างสีดำ แห่งเดียวในโลก

 

 


งานประเพณีที่สำคัญของวัด

เทศกาลขึ้นเขาวงพระจันทร์ จัดขึ้นประมาณเดือนสามช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งใกล้ และไกลจะหลั่งไหลกันมานมัสการรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปบนยอดเขาแห่งนี้อย่างเนืองแน่นเป็นประจำตลอดช่วงเทศกาล สิ่งก่อสร้างและรูปแบบของการแสดงความเคารพที่วัดแห่งนี้จึงมีอิทธิพลจีนนิกายฝ่ายมหายานอยู่มาก

 

เขาวงพระจันทร์ได้ชื่อว่าเป็นเขาที่สูงที่สุดของจังหวัดลพบุรี และเป็นภูเขาที่สร้างชื่อเสียงให้ผู้คนรู้จักเมืองลพบุรีมาช้านาน

 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.